วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

ความหมายของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา


 ความหมายของเทคโนโลยี

            คำว่า เทคโนโลยี มีนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
                 ชาร์ลส์ เอฟ. โฮบาน (Charles F. Hoban 1965 : 124) ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีว่า มิใช่คน 
หรือเครื่องจักร แต่เป็นการจัดระเบียบอันมีบูรณาการและความสลับซับซ้อนของความคิด 
                 คาร์เตอร์ วี กู๊ด (Carter V. Good 1973 : 592) ได้ให้ความหมายของคำว่าเทคโนโลยีในพจนานุกรมการศึกษาว่า เทคโนโลยี หมายถึง การนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ในวงการศึกษาต่าง ๆ หรือมาใช้ในงานสาขาต่าง ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น 
                  เอคการ์ เดล (Edgar Dale 1957 : 610) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้ในหนังสือ 
Audio - Visual Method in Teaching ว่า เทคโนโลยีไม่ใช่เครื่องมือแต่เป็นแผนการวิธีการทำงาน
อย่างมีระบบ
                  ก่อศักดิ์ สวัสดิพาณิชย์ (2517 : 83) กล่าวว่า เทคโนโลยี หมายถึง การนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ในวงการศึกษาต่าง ๆ หรือมาใช้ในงานสาขาต่าง ๆ และเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบ
                  ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2520 : 35) ได้เขียนไว้ในหนังสือมิติที่ 3 ว่า ตามรูปศัพท์ภาษาอังกฤษ
เทคโนโลยี หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีการ ซึ่งอยู่ในรูปของการจัดระบบงานด้วยองค์ 3 คือ
                  1. ข้อมูลที่ใส่เข้าไป ได้แก่ การกำหนดปัญหา วัตถุประสงค์รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 
                  2. กระบวนการ ได้แก่ การลงมือแก้ปัญหา แจกแจงวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
                  3. ผลลัพธ์ คือ ผลที่ได้จากการแก้ปัญหาและทำการประเมินผล
            
                    ดังนั้น "เทคโนโลยี" หมายถึง การนำเอาขบวนการ วิธีการ และแนวความคิดใหม่ๆ มาใช้หรือ
ประยุกต์ใช้อย่างมีระบบ เพื่อให้การดำเนินงาน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
                  
                        การขยายตัวทางวิทยาการทำให้เทคโนโลยี ถูกนำมาใช้ในงานสาขาต่าง ๆ เช่น 
             
                               - เทคโนโลยีทางการทหาร (Military Technology)
                               - เทคโนโลยีทางการแพทย์ (medical Technology)
                               - เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agricultural Technology)
                               - เทคโนโลยีทางการสื่อสาร (Communication Technology)
                               - เทคโนโลยีทางการค้า (Commercial Technology)
                               - เทคโนโลยีทางวิศวกรรม (Engineering Technology)
                               - เทคโนโลยีทางการตลาดสังคม (Social Marketing Technology)
                               - เทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology) 
      ความหมายของนวัตกรรม

                นวัตกรรม หมายถึง ความคิดและการกระทำใหม่ ๆ ที่นำมาใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 
                นวัตกรรมทางการศึกษา หมายถึง ความคิดและวิธีการใหม่ ๆ ที่ส่งเสริมให้กระบวนการศึกษา
มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การสอนแบบโปรแกรม (Program Instruction) เครื่องช่วยสอน (Teaching Machine) 

        ข้อสังเกตเกี่ยวกับสิ่งที่ถือว่าเป็นนวัตกรรม
                  1. เป็นความคิดและการกระทำใหม่ทั้งหมดหรือปรับปรุงดัดแปลงจากที่เคยมีมาก่อนแล้ว 
                  2. ความคิดหรือการกระทำนั้นมีการพิสูจน์ด้วยการวิจัยและช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 
                  3. มีการนำวิธีระบบมาใช้อย่างชัดเจน โดยพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน คือ ข้อมูลที่ใส่เข้าไป กระบวนการ และผลลัพธ์
                  4. ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานปัจจุบัน

      ขั้นตอนของการเกิดนวัตกรรม
                  1. ขั้นการประดิษฐ์คิดค้น (Invention)
                  2. ขั้นการพัฒนาการ (Development) หรือขั้นการทดลอง (Pilot Project)
                  3. ขั้นการนำไปหรือปฏิบัติจริง (Innovation) 
               
                                
           จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของนวัตกรรมและเทคโนโลยี คือ ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยความคิดหรือการกระทำใหม่ ๆ จะถูกนำมาใช้ก่อนจนกว่าจะถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานในปัจจุบัน ความคิดหรือการกระทำใหม่ ๆ ที่เรียกว่า นวัตกรรมนั้นก็จะกลายเป็นเทคโนโลยีขึ้นมาทันที
     ปัญหาและอุปสรรคทางการศึกษา
      
            การพัฒนาการศึกษา มีปัญหาและอุปสรรคสำคัญ 4 ประการ คือ
                1. ปัญหาบุคคล ได้แก่ ผู้บริหาร ผู้สอน และผู้เรียน
                2. ปัญหาเครื่องมือ ได้แก่ ศักยภาพและประสิทธิภาพของเครื่องมือหรือสื่อการศึกษา
                3. ปัญหางบประมาณ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการจัดการหรือการบริหารงานการศึกษา
                4. ปัญหาวิธีการ ได้แก่ วิธีการหรือช่องทางที่จะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 



     ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา 

           เทคโนโลยีการศึกษา หมายถึง การนำเอาความรู้ แนวคิด กระบวนการ และผลผลิตทางวิทยาศาสตร์
มาใช้ร่วมกันอย่างมีระบบ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ 

    ระดับของเทคโนโลยีทางการศึกษา

         
การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา ต้องอาศัยหลักจิตวิทยาเป็นพื้นฐานสำคัญ 
เทคโนโลยีทางการศึกษาแบ่งออกได้ 3 ระดับ ได้แก่
               1. ระดับอุปกรณ์การสอน  เป็นการใช้เทคโนโลยีในระดับเครื่องช่วยการสอนของครู (Teacher's Aid) เป็นการเร้าความสนใจของนักเรียน การใช้เทคโนโลยีระดับนี้ จะต้องควบคู่ไปกับการสอนของครูตลอดเวลา
               2. ระดับวิธีสอน เป็นการใช้เทคโนโลยีแทนการสอนของครูด้วยตนเอง โดยผู้สอนไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกับผู้สอนเสมอไป  การใช้เทคโนโลยีระดับนี้บทบาทของครูต่อหน้าผู้เรียนลดลง ข้อดีในแง่การจัดกิจกรรม การใช้เครื่องมือ ข้อเสีย คือ ไม่มีความผูกพันระหว่างครูกับผู้เรียน 
               3. ระดับการจัดระบบการเรียนการสอน เป็นการใช้เทคโนโลยีการศึกษาระดับกว้าง สามารถจัดระบบการศึกษาตอบสนองผู้เรียนได้จำนวนมาก เทคโนโลยีระดับนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น งานบริหารการศึกษา งานพัฒนาการศึกษา สื่อการศึกษา เป็นต้น 
     บทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษากับการจัดการเรียนการสอน
  
            1. ช่วยให้ผู้เรียนเรียนได้กว้างขวางมากขึ้น ได้เห็นหรือได้สัมผัสกับสิ่งที่เรียนและผู้สอนมีเวลาแก่ผู้เรียนมากขึ้น
            2. สามารถสนองเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล
            3. ให้การจัดการศึกษาดีขึ้น มีการค้นคว้า วิจัย ทดลอง ค้นพบวิธีการใหม่ ๆ
            4. มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาสื่อการสอน ให้มีคุณค่าและสะดวกต่อการใช้มากขึ้น
            5. ทำให้การเรียนรู้ไม่เน้นเฉพาะด้านความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เน้นด้านทัศนะ หรือเจตคติและทักษะแก่ผู้เรียนด้วย
            6. ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของผู้เรียนให้มากขึ้น เช่น การจัดการศึกษานอกระบบ การจัดการศึกษาพิเศษ 
      สาเหตุที่นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในทางการศึกษา
  
        กระบวนการให้การศึกษาปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ พอสรุปได้ 3 ประการ คือ
                     1. การเพิ่มจำนวนประชากร เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การขาดแคลนอาหาร ที่อยู่อาศัย สถานที่เรียน ครู สื่อการสอน เป็นต้น ทำให้การจัดการศึกษาไม่ทั่วถึง นักการศึกษาได้เสนอแนวทางในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น โทรทัศน์การสอน (Instructional T.V.) ชุดการสอน (Instruction Package) เป็นต้น
                     2. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
                           เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องจากการเพิ่มประชากรโดยตรง ทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การต่อสู้ดิ้นรน การแข่งขันสูงขึ้น การศึกษาจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ทันกับเหตุการณ์อยู่เสมอ
                      3. ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการใหม่ ๆ 
                            การศึกษาค้นคว้าเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้พบวิทยากรใหม่ ๆ ด้านการศึกษาจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงหลักสูตร เนื้อหา และวิธีการสอน เพื่อให้ทันกับเครื่องมือและวิธีการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

      แนวคิดในการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษากับการศึกษาไทย 

           ปัญหาและสภาพการศึกษาไทยในอดีตย่อมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะปัญหาการด้อยคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษา ซึ่งประมวลได้ 3 ประการ คือ
                1. คนไทยส่วนใหญ่ไม่นับถือตนเอง
                          คนไทยส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นและไม่นับถือตนเอง ในสภาพการเรียนการสอนที่ครูเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผู้เรียนเกิดปมด้อย ขาดความเชื่อมั่น การจัดการศึกษาควรให้ผู้เรียนได้เป็นศูนย์กลาง
                2. การไม่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม
                         ในอดีตหลักสูตรบรรจุเนื้อหาวิชาและประสบการณ์ที่ไม่เอื้อต่อผู้เรียนในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ การจัดการศึกษาควรสนองความต้องการของคนแต่ละภาคเพื่อให้เขาได้ชื่นชมกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการไม่ยอมรับความสามารถของคนไทยด้วยกันเองด้วย
               3. การขาดทักษะที่พึงประสงค์
                        มนุษย์เกิดมาภายใต้อิทธิพลของพฤติกรรมสิ่งแวดล้อมลักษณะที่ไม่ดีต่าง ๆ เช่น ความโลภ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ การศึกษาที่จัดอย่างเป็นระบบจะทำให้คนมีคุณภาพและควบคุมพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสม การศึกษาในระบบเดิม นอกจากไม่สามารถลดปริมาณสันดานดิบของผู้เรียนลงได้แล้ว ยังมีผลต่อเนื่องให้ผู้สำเร็จการศึกษาขาดลักษณะที่พึงประสงค์ 5 ประการ คือ
                        3.1 กล้าและรู้จักแสดงความคิดเห็น
                        3.2 สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง
                        3.3 รู้จักทำงานร่วมกันเป็นหมู่อย่างมีประสิทธิภาพ
                        3.4 รู้จักแสวงความรู้เอง
                        3.5 มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม




    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น